Wednesday, October 5, 2011

::::::ดูให้สะใจ Unseen Thailand ::ดาวบนดิน :::::




นานนนนมากแล้้ว ที่ไม่ได้ไปดูงานแห่ดาว
เรียกว่าจำไม่่ได้ดีกว่า

คริสต์มาสต์ที่ผ่านมา ไหนๆอยู่ที่นี่
ขอพาเพื่อนๆมาเที่ยวอีกเทศกาลสำคัญของจังหวัดสกลนคร
ดูให้สะใจ Unseen Thailand: ดาวบนดิน เทศกาลแห่ดาว จ.สกลนคร (หลังไปดู)
เป็นหนึ่งในกิจกรรมโปรโมทของททท.ในโครงการ 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน
(http://www.1279thailand.com/)

ภาคข้อมูลก่อนไปจ้ะ

คลิกตรงนี้เลย

วันนี้ นอกจากจะนำภาพมาให้ดูให้หนำใจแล้ว
ขอนำเสนอบทความจาก
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์  วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
มาประกอบภาพที่เอมหวานไปถ่ายในวันที่ 25 ธันวาคม 2553 ค่ะ
:::::::


สำนักมิสซังท่าแร่-หนองแสง อ.เมือง จ.สกลนคร

ประวัติการแห่ดาวเทศกาลคริสต์มาสของจังหวัดสกลนคร

     ใกล้ถึงวันสมโภชพระคริสตสมภพ หรือ “วันคริสต์มาส” ของทุกปี
เราจะเห็นห้างสรรพสินค้าและร้านรวงต่างๆ
ประดับตกแต่งต้นคริสต์มาสด้วยไฟหลากสีระยิบระยับ
มีภาพชายแก่หนวดเครายาวสีขาวพุงพุ้ยในชุดสีแดงสดใสพร้อมถุงของขวัญ
บนล้อเลื่อนมีกวางลากจูง คลอด้วยบทเพลงคริสต์มาสในจังหวะสนุกๆ
เพื่อดึงดูดผู้คนที่ผ่านไปมาให้หันมาสนใจและจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าในร้านรวงของตน


       บรรยากาศเช่นนี้มีให้เห็นทั่วไปตามเมืองใหญ่ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ใน ประเทศไทย   แต่ในอีกมุมหนึ่งของหมู่บ้านคริสตชนในภาคอีสานของประเทศไทย ดูจะต่างออกไป


โดยเฉพาะในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดคือสกลนคร นครพนม
กาฬสินธุ์และมุกดาหาร จะมีบรรยากาศของความสมัครสมานกลมเกลียวแบบพี่น้อง ที่ร่วมแรงร่วมใจกันเตรียมฉลองคริสต์มาสด้วยการทำดาวและถ้ำพระกุมาร ช่วยกันประดับตกแต่งวัดประจำหมู่บ้านให้สวยงาม รวมถึงบ้านเรือนของตนเพื่อเฉลิมฉลองการประสูติมาของพระเยซูเจ้า


      พวกเขาได้สานต่อความเชื่อศรัทธานี้ มามากกว่า 100 ปี จนกลายเป็นประเพณีในคืนวันที่ 24 ธันวาคม ของทุกปี


      การทำดาวและประเพณีแห่ดาวมีความเป็นมาและความหมายอย่างไร
นี่คือความมุ่งหมายของบทความนี้เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเฉลิมฉลองคริสต์มาสของคริสตชนในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ที่หลายคนอาจไม่เคยได้รับรู้มาก่อน





โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีแห่ดาวของจังหวัดสกลนครจากทุกหมู่บ้านมากกว่า 300 ดวง
ซึ่งกล่าวกันว่ามีเพียงแห่งเดียวในโลกทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและสานต่องาน ประเพณีนี้อย่างถูกต้องและยั่งยืนสืบไป


ความหมายและที่มาของการแห่ดาว
       คำว่า “ ดาว” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2545 ได้ให้ความจำกัดความเอาไว้ว่า
“ สิ่งที่เห็นเป็นดวงมีแสงระยิบระยับในท้องฟ้าเวลามืดนอกจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ”


      นอกนั้นยังเป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลที่เด่นดังในทางใดทางหนึ่ง
ดาวจึงหมายถึง ดวงไฟที่ส่องแสงระยิบระยับบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน
ทำให้ท้องฟ้าแลดูสว่างสุกใส
ด้วยเหตุนี้จึงอุปมาคนที่มีชื่อเสียงดี หรือมีหน้าตาสะสวยและความสามารถโดดเด่น เป็นเหมือนดาวบนฟ้าที่ส่องประกายเจิดจ้ายามค่ำคืน


อย่างนักแสดงที่เรียกว่า “ ดารา” สำหรับชาวตะวันออกเชื่อกันว่าทุกคนเกิดมามีดาวประจำตัว
โดยเฉพาะบุคคลสำคัญที่มีบุญยาบารมีดาวประจำตัวจะสว่างสุกใสกว่าปกติสังเกต เห็นได้ง่าย


จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเวลาที่พระเยซูเจ้าประสูติ
จะปรากฏดาวประจำพระองค์ให้พวกโหราจารย์หรือนักปราชญ์จากทิศตะวันออกได้เห็น
พวกเขาได้ออกเดินทางตามดาวดวงนั้นไป
เพื่อไหว้นมัสการและถวายของขวัญตามที่มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ ( มธ 2:1-12)


       ดังนั้น ดาวในคริสตศาสนาจึงเป็นสัญลักษณ์หมายถึง
การบังเกิดมาของพระเยซูเจ้าและเป็นสื่อนำทางพวกโหราจารย์ให้ได้พบกับพระกุมารเยซู
ูในถ้ำเลี้ยงสัตว์ที่เมืองเบธเลเฮม ประเทศปาเลสไตน์




ส่วนประเพณีแห่ดาวในเทศกาลคริสต์มาส มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
แต่เข้าใจว่าคงมีมาตั้งแต่แรกเริ่มที่คริสตศาสนาเข้ามาในภาคอีสานในปี ค.ศ. 1881
( พ.ศ. 2424) โดยการนำของคุณพ่อยอห์น บัปติสต์ โปรดม
(Jean PRODHOMME) และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก(Xavier GEGO)
ธรรมทูตรุ่นบุกเบิกคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP)
ที่สอนให้คริสตชนทำดาวประดับวัดในเทศกาลคริสต์มาส ประกอบกับธรรมชาติของคนอีสานที่ร่าเริงสนุกสนานมีงานประเพณีแห่แหนตลอดทั้งปี



    การประยุกต์ประเพณีทำดาวประดับวัดในเทศกาลคริสต์มาส
มาเป็นประเพณีแห่ดาวรอบวัดหรือชุมชนจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย


ก่อนจะกลายมาเป็นประเพณีนิยมของทุกวัดที่กระทำกันในคืนวันที่ 24 ธันวาคม ของทุกปี
การทำดาวประดับวัดของหมู่บ้านคาทอลิกในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงก็เหมือนกับการทำถ้ำพระกุมารและการประดับต้นคริสต์มาสในประเทศยุโรป

แต่การทำดาวของวัดต่างๆ ในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงดูจะ มีชีวิตชีวาและวิวัฒนาการมากกว่า เห็นได้จากการประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นและวิถีชีวิตของชุมชน จากการทำดาวประดับวัดธรรมดา



ได้พัฒนาไปเป็นการทำดาวประดับบ้านเรือน การแห่ดาวและการประกวดดาว เพื่อสืบสานความเชื่อศรัทธาอย่างมีสีสันและชีวิตชีวา
อันแสดงออกถึงความชื่นชมยินดีของชุมชนตามจิตตารมณ์ของคริสต์มาส
 


ประเพณีแห่ดาว ที่สกลนคร

       ประเพณีแห่ดาวที่สกลนคร เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องโดยตรงกับพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน อดีตผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงระหว่างปี ค.ศ. 1980-2004 ( พ.ศ. 2523-2547)


ที่มีความประสงค์จะให้หมู่บ้านคริสตชนในเขตปกครอง ได้นำดาวที่ใช้แห่ในคืนวันที่ 24 ธันวาคมเพื่อเฉลิมฉลองการบังเกิดมาของพระเยซูเจ้าในหมู่บ้านของตน มาร่วมแห่อีกครั้งที่สกลนครเพื่อสนับสนุนกลุ่มคริสตชน



วัดพระหฤทัยฯสกลนครซึ่งยังมีจำนวนน้อยอยู่ การแห่ดาวที่สกลนครเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1982 ( พ.ศ. 2525)


        หลังจากพระคุณเจ้าคายน์ แสนพลอ่อน สร้างสำนักมิสซังแห่งใหม่ที่สกลนครและย้ายมาประจำที่สำนักใหม่แล้ว โดยมอบหมายให้ชุมชนท่าแร่หมู่บ้านคริสตชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและศูนย์กลางของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เป็นผู้นำในการทำดาวและประดับประดารถบุษบก
ถ้ำพระกุมารที่ใช้ในขบวนแห่ โดยเริ่มแห่จากศาลากลางจังหวัดสกลนครไปยังบริเวณโรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร ก่อนที่จะมีพิธีเฉลิมฉลองคริสต์มาส
เหมือนเช่นที่ทำกันในแต่ละวัดในคืนวันที่ 24 ธันวาคม


เป็นธรรมดาอยู่เองที่การริเริ่มทำสิ่งใหม่ที่ไม่มีใครทำมาก่อน
ย่อมมีอุปสรรคปัญหาและความยากลำบาก
เช่นเดียวกับการแห่ดาวที่สกลนคร ในปีแรกมีดาวจากหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมขบวนแห่จำนวนไม่มาก และไม่ได้รับการยอมรับจากชาวสกลนครเท่าใดนัก
รวมถึงผู้ร่วมงานบางคนที่มองว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ


แต่พระคุณเจ้าคายน์ แสนพลอ่อน ยังคงยืนหยัดที่จะจัดให้มี
ีประเพณีแห่ดาวนี้เรื่อยมา และพยายามปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นในแต่ละปี ต่อมาได้จัดให้มีการประกวดดาวทำให้มีจำนวนดาวจากหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมแข่งขัน
และขบวนแห่เพิ่มมากขึ้น หลังจากได้จัดแห่ดาวที่สกลนครผ่านไปหลายปี


       ชาวสกลนครเริ่มยอมรับและกล่าวขวัญถึง บางปีไม่ได้จัดที่สกลนครเช่นในปี ค.ศ. 1999 ( พ.ศ. 2543) ย้ายไปจัดที่หมู่บ้านท่าแร่เพื่อสมโภชการเปิดปี “ปีติมหาการุญ คริสตศักราช 2000 ” เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้จัดที่สกลนครประจำทุกปี


     จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546)
นายปรานชัย บวรรัตนปราน ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครขณะนั้น ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้บรรจุประเพณีแห่ดาวให้เป็นงานส่งเสริมการท่องเที่ยวงานหนึ่งของจังหวัด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมและร่วมงานคริสต์มาสที่สกลนคร





คุณค่าในปัจจุบัน


       ปัจจุบัน ประเพณีแห่ดาวเทศกาลคริสต์มาสของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
เป็นส่วนหนึ่งงานประเพณีประจำจังหวัดสกลนครที่จัดขึ้น
ในคืนวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เทศบาลสกลนคร ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ

มีดาวที่ได้รับการออกแบบตามจินตนาการและประดับตกแต่งด้วยไฟฟ้าอย่างสวยงาม ตระการตา จากหมู่บ้านต่างๆ ทั่วสังฆมณฑลฯ มากกว่า 300 ดวง


จากงานแห่ดาวธรรมดาที่จัดเพื่อถวายเกียรติแด่พระกุมารเยซู ผู้ประสูติมาในเทศกาลคริสต์มาสและเป็นที่รู้จักในวงแคบในหมู่คริสตชน


ได้กลายมาเป็นประเพณีที่เป็นหน้าตาของจังหวัดและเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ จิตตารมณ์การบังเกิดมาของพระกุมารเยซูและประวัติวันคริสตมาส
ได้รับประกาศและนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ สะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่า

      สิ่งที่ไร้ค่าเปล่าประโยชน์ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง อาจกลายมาเป็นสิ่งที่มีค่าขึ้นมาได้เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน “ ความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งคือนิรันดร์”ยังคงเป็นจริงอยู่เสมอ


      เช่นเดียวกับคุณความดีที่ พระคุณเจ้าคายน์ แสนพลอ่อนได้ริเริ่มประเพณีแห่ดาวนี้
ที่กลายมาเป็นงานประเพณีหนึ่งของจังหวัดสกลนครและประเทศไทย
ควรอย่างยิ่งที่อนุชนรุ่นหลังจะศึกษาเรียนรู้คุณค่าอันดีงามและบทเรียนต่างๆ เพื่อธำรงส่งเสริมและรักษาไว้สืบไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำนักมิสซังท่าแร่ โทร. 0 4271 1272
ขอขอบคุณข้อมูลคุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย(15 ธันวาคม 2009)
http://www.nbkradio.com/Star2009/StarAD25122009.php


::::::::::::::แถมๆกับเอมหวาน::::::::::::::::::::::

เอาบรรยากาศงานมาฝากเพิ่มเติม เผื่อปีหน้าใครสนใจจะมาร่วมงานจ้ะ
บรรยากาศงานจับสลากบนเวที หนูแหม่ม สุริวิภา กุลตังวัฒนามาเป็นพิธีกร


ด้านหน้ามีขายโคมไฟ


หมึกย่างหน้าหนาวก็ขายดีนะ





อามคุงน้องชายเป็นตากล้อง ภาพนี้มีน้องอุ้ยคุง เอมหวาน แล้วก็คู่ข้าวใหม่ปลามัน หน่อย-กิต

ใส่แก้วดินเผา หัตถกรรมท้องถิ่นจากเชียงเครือ เป็นน้ำเฉาก๊วยกับน้ำมะพร้าว มูลค่าเพิ่มกับน้ำสมุนไพรธรรมดา เลยช่วยอุดหนุน

bye bye ก่อนนะจ้ะกับน้องชายสุดหล่อ น้องอุ้ยคุง


เดี๋ยวนั่งสามล้อไปส่งกลับบ้าน ฮ่าๆๆ


คืนนี้นิทราราตรีสวัสดิ์ค่ะ


ขอบคุณนายแบบ
น้องอุ้ยคุง น้องเลิฟ
น้องอามคุง น้องชายอีกคนตากล้องร่วม คือคนละกล้อง
ร่วมกินกันเฉาก๊วย

กรอบจากคุณกุ้งคนสวย
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=kungguenter&month=11-2008&date=28&group=23&gblog=94
 

No comments:

Post a Comment